พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือนเกิดอะไรขึ้นบ้าง

การทำความเข้าใจเรื่อง “พัฒนาการของทารกในครรภ์” เป็นสิ่งที่ คุณพ่อ คุณแม่ ควรศึกษารายละเอียด เป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ช่วยกระตุ้นพัฒนาการและสามารถบำรุงลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่ได้อย่างเหมาะสม และถูกต้อง ทารกน้อย จะได้มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง พร้อมเผชิญกับโลกกว้าง โดยระบบการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านร่างกาย และพัฒนาการในบางช่วง มีข้อมูลคร่าวๆ ที่คุณพ่อ – คุณแม่ ควรทราบดังนี้

 1-8 สัปดาห์

                หลังจากการปฏิสนธิ และแบ่งเซลล์เรียบร้อยแล้ว เราจะเรียกระยะต่อจากนี้ว่า ระยะตัวอ่อน หรือ เอ็มบริโอโดยเมื่อ เอ็มบริโอ เจริญเติบโต จะเริ่มพัฒนาเนื้อเยื่อชั้นนอก ชั้นกลางและชั้นใน ซึ่งเนื้อเยื่อเหล่านี้จะพัฒนาเป็นอวัยวะต่างๆ ต่อไป

 สัปดาห์ที่ 9-12

            – ลักษณะของร่างกาย เริ่มสร้างกระดูกแขนและขา นิ้วมือนิ้วเท้า อวัยวะเพศเริ่มมองเห็นชัดเจนขึ้น จึงสามารถอัลตร้าซาวด์ได้

            – อวัยวะภายใน มีเม็ดเลือดแดงเกิดขึ้นในตับ ลำไส้ในช่องท้องเริ่มพัฒนามากขึ้น การสร้างกระดูกเพิ่มมากขึ้น

 สัปดาห์ที่ 13-16

            – ลักษณะของร่างกาย อวัยวะบริเวณใบหน้าเริ่มชัดเจน กล้ามเนื้อต่างๆ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

            – อวัยวะภายใน ในระยะนี้อวัยวะหลายส่วน เริ่มปรากฏขึ้น เช่น ตับ สมอง กระเพาะปัสสาวะ ปอดและกระเพาะอาหาร กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจเริ่มเคลื่อนไหว ดวงตาเคลื่อนไหวได้อย่างช้าๆ

 สัปดาห์ที่ 17-20

            – ลักษณะของร่างกาย ดิ้นมากขึ้น พลิกตัวไปมาได้ ทารกหลับๆ ตื่นๆ อยู่ในครรภ์มารดา จนคุณแม่สัมผัสได้ว่าลูกกำลังดิ้น มีขนคิ้ว และเส้นผม ที่เกิดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด มีไขมันสีขาวขุ่น ที่เรียกว่า “ไขทารก” เกิดขึ้น เพื่อป้องกันผิวด้านจากการสัมผัสน้ำคร่ำ

            – อวัยวะภายใน เริ่มได้ยินเสียงหัวใจที่ดังขึ้น หัวใจสูบฉีดเลือดได้มากขึ้น ระบบย่อยอาหารเริ่มทำงาน

สัปดาห์ที่ 21-24

            – ลักษณะของร่างกาย ทารกน้อยเริ่มกำมือได้ และ เคลื่อนไหวดวงตาได้เร็วขึ้น มีเส้นผมและคิ้วขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดเริ่มเห็นลายนิ้วมือปลายนิ้วเท้าลายมือและลายเท้า

            – อวัยวะภายใน มีการผลิตไขมันสีน้ำตาล เพื่อเผาผลาญพลังงาน ให้เป็นพลังงานความร้อน ให้ร่างกายได้ใช้ เมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำลง

 สัปดาห์ที่ 25-28

            – ลักษณะของร่างกาย ทารกเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น และตอบสนองต่อสิ่งภายนอกมากขึ้น อย่างเช่นเสียงของมารดา หรือแสงสว่างจากภายนอก ทารกสามารถลืมตาและหลับตาได้

            – อวัยวะภายใน การเติบโตของ ระบบประสาทพัฒนา เพิ่มมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนก๊าซที่บริเวณปอด ระบบหายใจและระบบหลอดเลือดพัฒนาอย่างมาก

สัปดาห์ที่ 29-32

            – ลักษณะของร่างกาย รอยย่นที่ผิวหนังหายไป ผิวหนังมีสีแดงระเรื่อ มีไขมันเกาะใต้ชั้นผิวหนังมากขึ้น ทารกสามารถลืมตา ยืดตัวและถีบได้

            – อวัยวะภายใน ระบบกระดูกและระบบประสาทส่วนกลางเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ การสร้างเม็ดเลือดแดงภายในกระดูกเพิ่มมากขึ้น

สัปดาห์ที่ 33-36

            – ลักษณะของร่างกาย ทารกมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นแขนขาเจริญเต็มที่ พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวดีมาก ผิวหนังสีชมพู แขนขาอวบอ้วน

            – อวัยวะภายใน ระบบประสาท และระบบไหลเวียนโลหิตพัฒนาอย่างมาก พร้อมทั้งทำงานดีขึ้นตามลำดับ ความหนาแน่นของมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้นด้วย

สัปดาห์ที่ 37-40

            – ลักษณะของร่างกาย มีการเคลื่อนไหวแขนขายกมือและเท้าปัดไปมา เล็บมือเล็บเท้ายาวขึ้นจนพ้นปลายนิ้ว ผมยาวกระดูกศีรษะแข็ง ขนาด ลำตัวของทารกยาวประมาณ 48-52 เซนติเมตร น้ำหนักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3000-3500 กรัม ซึ่งขนาดตัวนั้น และน้ำหนักของทารก จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบ กัน ทารกช่วง 37 สัปดาห์ขึ้นไป เรียกว่า ทารกครบกำหนด และพร้อมออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว

            – อวัยวะภายใน มีการเปลี่ยนแปลง ที่อวัยวะเพศ โดยทารกเพศชายลูกอัณฑะ จะตกลงมาสู่ถุงอัณฑะ ส่วนอวัยวะเพศหญิงก็เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยแคมใหญ่จะติดชิดกันทั้งสองข้าง ระยะนี้ทารกใกล้คลอดแล้วดังนั้นคุณแม่จึงต้องหมั่น สังเกตอาการของตัวเองเป็นพิเศษถ้ามีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที