พัฒนาการเด็กเล็ก 5 ปีแรก ของเด็กที่แม่ควรรู้

news-Child-Development-site

พ่อแม่คือโลกใบแรกที่นำพาให้เด็กเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ความรู้ความเข้าใจของพ่อแม่ เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้เด็กมีโอกาสได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา การสื่อสาร อารมณ์ และสังคม พ่อแม่จึงควรรู้พัฒนาการของเด็ก ดังนี้

วัยแรกเกิดจนถึง 6 เดือน 

(1 เดือน) เริ่มมีการจ้องมองหน้า นอนคว่ำใช้กล้ามเนื้อยกศีรษะขึ้นได้ สะดุ้งร่างกายหรือเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียงพูดปกติ (2 เดือน) นอนคว่ำยกศีรษะได้นาน 45 วินาที ปฏิกิริยาตอบโต้มองตามเสียงพูดคุยหรือสิ่งของ ยิ้มหรือสื่อสารด้วยเสียง (3-4 เดือน) เริ่มขกแขนชูเล่น มองตามสิ่งของ เปล่งเสียง”อู”หรือ”อา” และเริ่มยิ้มทักทายได้ (5-6 เดือน) สามารถที่จะยันตัวขึ้นได้จากท่านอนคว่ำ เอื้อมมือหยิบของเล่น สนใจมองตามของเล่น และพยายามเลียนแบบการเล่นและทำเสียง

วัย 7 ถึง 12 เดือน

(7-9 เดือน) เรียนรู้เรื่องการคลาน และความหมายของคำว่า “อย่า” หรือคำว่า “ไม่” การเคลื่อนไหวทำงานได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อคอ ไหล่ หน้าอก และหลังส่วนล่างได้เป็นอย่างดี เด็กแข็งแรงพอที่จะนั่งได้ด้วยตนเอง เริ่มแสดงความต้องการโดยการชี้หรือสื่อให้พ่อแม่ทราบว่าต้องการอะไร  (10-12 เดือน) ลุกนั่งจากท่านอน คลาน เหนี่ยวตัวขึ้น เกาะยืน สามารถยืนขึ้นจากท่านั่งยองๆ สามารถใช้มือตักอาหารอย่างเป็นลำดับขั้นตอน  เริ่มพูดเป็นคำ รู้จักความหมายของคำต่างๆ ชอบเลียนแบบพฤติกรรมตามพ่อแม่ในทักษะที่สูงขึ้น เช่น การเลียนแบบการเขียนหนังสือ การระบายสี และเรียนรู้ขั้นตอนการใส่เสื้อผ้า รองเท้า และสนใจรูปภาพหนังสือ

Newborn-pic

วัย 13 ถึง 18 เดือน

เริ่มเลียนแบบผู้ใหญ่ ช่วยงานบ้าน เข้าใจความหมายของประโยค เริ่มขีดเขียนเป็นเส้นบนกระดาษ ทำตามคำสั่งที่มีประโยค 2-3 คำ รู้จักชื่อสิ่งของวัตถุ เล่นและใช้งานสิ่งของถูกประเภทตามหน้าที่ได้ รู้จักชี้รูปภาพสัตว์หรือสิ่งของใกล้ตัวในหนังสือ เริ่มรู้จักส่วนต่างๆของร่างกายและชี้บอกได้ มีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่มากกว่ากล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะเด็กส่วนใหญ่จะเดินได้คล่องแคล่วแล้ว และจะชอบเดินทั้งวัน บางคนอาจเดินถอยหลังได้ด้วย

วัย 19  ถึง 24 เดือน

เด็กมีทักษะด้านร่างการที่สามารถกระโดดได้โดยการช่วยพยุงจากพ่อแม่ การใช้ช้อนตักอาหารเอง เลียนแบบคำพูดที่ประกอบด้วยคำ 2 คำ เริ่มเข้าใจรูปทรงเรขาคณิตจากการฝึกพัฒนาการของพ่อแม่ จนกระทั่งสามารถเลือกรูปทรงเลขาคณิตตามคำสั่งได้ วัยนี้จะชอบทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง เช่น รับประทานอาหารเอง เลือกเสื้อผ้าเอง เด็กบางคนชอบวิ่งเล่นกลางสนาม เป็นต้น

วัย 25  ถึง 30 เดือน

เด็กวัยนี้เริ่มมีความปะติดปะต่อความคิดสร้างสรรค์เข้ากับการพัฒนาด้านร่างกายไปด้วยกัน ทักษะการเคลื่อนไหวจะมีมากขึ้นในช่วงวัยนี้ เรื่องการออกเสียงเป็นคำๆ จะพยายามพูดเป็นประโยคออกมา มักชอบเลียนแบบ และชอบอธิบายเป็นคำๆให้พ่อแม่ฟัง ด้านร่างกายเด็กสามารถกระโดดสองเท้า เดินเขย่งเท้ากระโดดได้ ด้านสติปัญญาสามารถที่จะขีดเส้นตรงในแนวตั้งหรือแนวนอน ขีดเขียนเป็นเส้นวนๆ และในด้านการสื่อสารและสังคมนั้นเด็กจะทำตามคำสั่งเป็นขั้นตอน มีการติดตามฟังเรื่องเล่าสั้นๆ ได้

Newborn-photo

วัย 31 ถึง 36 เดือน

เด็กวัยนี้จำเป็นมากที่ต้องเรียนรู้ทักษะในด้านต่างๆ ทั้งการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ จึงต้องเรียนรู้ทางสังคมในการติดต่อสื่อสารกับผู้คนรอบข้าง การเคลื่อนไหวร่างกายเด็กสามารถเดินขึ้นบันไดสลับเท้าได้เอง แต่ต้องมีพ่อแม่ดูแลพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ในวัยนี้เด็กจะหยิบจับของชิ้นเล็กและปากกาดินสอได้ แต่จะยังไม่ถนัดเท่าใดนัก จึงต้องอาศัยการกระตุ้นพัฒนาการเพิ่มขึ้้น เพื่อเข้าสู่วัยอนุบาลนี้ การเข้าใจภาษาเด็กจะเริ่มเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่อาจจะสลับเหตุการณ์บ้าง และสามารถเริ่มบอกชื่อตนเองได้ด้วย

วัย 37 ถึง 48 เดือน

เด็กวัยนี้ถือว่าเป็นวัยที่พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ทำให้เด็กสามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้แล้ว ร่างกายเด็กจะสามารถยืนด้วยขาข้างเดียวได้ การกระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญาเด็กจะมีการเลียนแบบเขียนรูปวงกลมตามแบบได้ การพัฒนาการสติปัญญาจะซับซ้อนขึ้น การสื่อสารและสังคม พ่อแม่ควรหมั่นฝึกพัฒนาการในกิจกรรมเช่น การตั้งคำถาม การเล่าเรื่องราว การร้องเพลง การสร้างกฏกติกา และการช่วยเหลืองานบ้าน ซึ่งจะทำให้เด็กได้เรียนรู้พัฒนาการหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

วัย 49 ถึง 60 เดือน

เด็กวัยนี้จะเป็นวัยที่ต้องเผชิญกับโลกภายนอก พบเจอเพื่อนใหม่ และการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ด้านร่างกายเด็กจะสามารถกระโดดไปข้างหน้า ถอยหลัง โดดสลับเท้า กระโดดต่อเท้าได้ ควรส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกเล่นกิจกรรมกลางแจ้งด้วย ด้านสติปัญญาจะเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้น การสื่อสารเด็กเริ่มมีการเรียนรู้ที่จะใช้คำถาม เรียนรู้ประโยค เข้าใจลำดับเลข พยัญชนะ และสามารถโต้ตอบคำถามได้