วิธีรับมือและเปลี่ยนพฤติกรรมลูกทานยาก ให้ทานง่ายมากขึ้น

หลายบ้านอาจจะต้องเจอกับปัญหาในการทานยาก หรือปัญหาการเลือกทานของเด็กๆ ซึ่งพ่อแม่หลายๆ ท่านอาจจะกลุ้มใจเพราะกลัวลูกเป็นเด็กที่ทานยาก รวมถึงน้ำหนักที่อาจจะลดลง หรือตกเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะในเด็กวัย 1 – 3 ขวบ ที่อาจจะมีการหย่านมคุณแม่ใหม่ๆ หรือมีพฤติกรรมทานนมมากกว่าอาหาร มีการเลือกทาน เรามาดูกันดีกว่าว่า เราจะรับมือกับพฤติกรรมของลูกน้อยที่ทานยากและทำอย่างไรให้เด็กๆ ทานอาหารได้ง่ายขึ้นได้บ้าง

วิธีรับมือเมื่อลูกน้อยเลือกกิน

ซึ่งต้องบอกว่าในบางครั้ง เด็กหลังหนึ่งขวบนั้นควรจะมีการปรับลดปริมาณของนมและมื้อนมลง เพราะเป็นวัยที่ควรทานอาหารมากกว่าการทานนมและหากเด็กมีการรับประทานนมในปริมาณเยอะเทียบเท่าช่วงวัยก่อนหนึ่งขวบหรือมากกว่า ก็จะทำให้เด็กนั้นรู้สึกอิ่มและไม่อยากอาหารหรือทานอาหารได้น้อย คุณพ่อคุณแม่ต้องมีการจัดการในเรื่องของปริมาณนมและมื้อนมกับมื้ออาหารให้เหมาะสม การที่มีสิ่งเร้ารอบข้างมากจนเกินไปนั้นก็มีส่วนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดการ์ตูน พื้นที่ๆ มีสิ่งที่ล่อตาล่อใจเยอะ ผู้คนหรือเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันที่มากเกินไป สิ่งเหล่านี้จะเบี่ยงเบนความสนใจในการอยากทานอาหารของลูกได้และทำให้ลูกนั้นไม่สนใจที่จะทานอาหารนั้นเอง อาหารนั้นอาจจะมีรสชาติไม่คุ้นลิ้นหรือมีรสชาติที่แปลกจนเกินไป ไม่ถูกปาก ทำให้ลูกน้อยมีพฤติกรรมต่อต้านการทานอาหารในมื้อถัดไป มีการบังคับที่มากจนเกินไป ทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีและมีการต่อต้านการทานอาหาร มีพฤติกรรมที่ต้องการความเอาใจใส่ โดยมีการป้อน คอยตาม จึงทำให้เกิดพฤติกรรมอยากให้เอาใจ โดยการเลือกที่จะไม่กิน

วิธีการรับมือ คือการจัดมื้อนม มื้อขนมและมื้ออาหารให้เหมาะสมกับลูกน้อย ไม่ทานนมและขนมในช่วงเวลาที่จะรับประทานอาหาร ซึ่งการจัดการเวลาที่ชัดเจนนั้นจะเสริมสร้างระเบียบวินัยให้แก่ลูกน้อยด้วยเช่นกัน แต่ในทางกลับกัน คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมีการใจแข็ง อดทน ไม่ว่าลูกน้อยจะออดอ้อน หรืองอแงเพียงใด เพื่อตัวของลูกน้อยเองที่จะรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสมและมีระเบียบวินัย พร้อมทั้งลูกน้อยจะมีการปรับตัวและรู้ช่วงเวลาได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เคร่งขรึมตลอดเวลา อาจจะมีการผ่อนคลายบ้างในโอกาสพิเศษพยายามทำความเข้าใจกับลูกอยู่เสมอ

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำตอนฝึกลูกกินข้าวเอง

การฝึกให้กินเป็นเวลานั้น อาจจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่ล่อตาล่อใจ เพื่อให้ลูกน้อยมีสมาธิกับการกินและเข้าใจเมื่อถึงเวลาอาหาร เพื่อให้ลูกน้อยทำความเข้าใจ ปรับตัวและสามารถรับประทานอาหารได้อย่างเต็มที่เมื่อถึงเวลา โดยอาจจะรับประทานอาหาร งดการ์ตูนไปในช่วงนั้น ในช่วงแรกอาจจะทานน้อยอยู่อย่าพึ่งหมดหวังต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคย

ในวัยที่เหมาะสมนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักที่จะช่วยเหลือตัวเอง ตกแต่งจานอาหารให้น่ารับประทานมีสีสันในการดึงดูด มีการรับประทานอาหารไปพร้อมๆ กันให้ลูกน้อยอยากที่จะเรียนรู้และฝึกฝนรับประทานอาหารเอง มีการบอกกล่าวบ้างในการรับประทานอาหารอย่าบังคับเพราะอาจจะทำให้ลูกนั้นรู้สึกไม่ดี กดดันหรือโดนบังคับและไม่กล้าหรือไม่อยากที่จะรับประทานเองในครั้งถัดไป การทานเลอะในเด็กนั้นเป็นเรื่องปกติ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่าการใช้มือในการหยิบจับอาหารหรือช้อนส้อมนั้น อาจจะยังไม่คล่องตัวนัก ต้องใช้ความอดทน ใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ตำหนิติเตียน การจำกัดเวลาในการทานนั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะจะทำให้ลูกน้อยนั้นไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการทานอาหารและการแบ่งเวลาที่ชัดเจน จะทำให้ลูกน้อยรู้ว่าหากตนหิวต้องรออาหารในมื้อถัดไป ดังนั้นในมื้อถัดไปจึงจำเป็นที่จะรับประทานอาหารให้เต็มที่ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับดีๆ ที่อยากมาบอกต่อคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน